วันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

หมอแคนเทวดา

      สมบัติ สิมหล้า  .. หมอแคนเทวดา
แคน เครื่องดนตรีพื้นถิ่นที่ว่ากันว่าสร้างขึ้นเลียนเสียงของนกการเวก เสียงแคนเป็นความมหัศจรรย์แห่งแผ่นดินอีสาน เช่นเดียวกับเป็นมหัศจรรย์แห่งชีวิตของชายตาบอด


จากคำกล่าว "สมบัติเอ๋ย พ่อสิหัดแคนให้เจ้า..." ยิ่งกว่าของเล่นถูกใจชิ้นใดๆ สำหรับ สมบัติ สิมหล้า แคนใหญ่สิบหกลูกของพ่อเต้านั้น แทบจะสูงท่วมหัวเด็กชายผอมบางวัย 6 ขวบ เสียงของมันยามที่พ่อเป่าให้ฟัง ไม่เพียงไพเราะราวกับเสียงนกการเวก หากแต่ยังทำให้ความคิดหวังของเด็กชายในโลกมืดคนหนึ่งเพริดไปไกลเสียจากใต้ถุนเรือน
       
เด็กชายสมบัติเกิดมามีกรรมหนัก เป็นน้องคนสุดท้องที่ไม่ได้ตาพิการมาแต่กำเนิด หากแต่เรื่องราวของเขาฟังว่าเมื่อแรกคลอดออกมา หมอตำแยเอายาผิดชนิดมาหยอดตาทารกน้อย จนติดเชื้อ และทำให้บอดสนิทเสียตั้งแต่ยังไม่รู้ความ แต่เด็กชายมิใช่เด็กมีปมด้อย ตรงกันข้าม ยังร่าเริง ช่างคิด แม้ไม่อาจออกไปวิ่งเล่นในทุ่งกับพี่น้อง

ทุกวันเขาจะนั่งเคาะจังหวะเพลงกับกลองปี๊บหรือพื้นกระดานไปตามเรื่อง แต่ที่ชอบที่สุดเห็นจะเป็นแคนน้อยหกลูกที่พ่อหามาให้เล่นตอนอายุได้สามขวบ "พอเป่าแคนได้ หลังจากนั้นปีกว่าๆ ป้าของผมก็มาขอกับแม่พาผมไปขอทาน… พ่อไม่อยากให้ไป แกอายคน ฐานะก็มีกิน ยังปล่อยให้ลูกไปขอทาน แกห้ามทุกครั้งแต่ผมไม่ฟัง" สำหรับเด็กชายที่มีชีวิตอยู่ใต้ถุนเรือน การออกไปขอทานคือวิธีเดียวที่เขาได้ออกไปเผชิญโลก แรกๆ ก็เดินเป่าแคนอยู่ในตลาดบรบือ เริ่มออกไปต่างอำเภอ และถูกพาไปไกลขึ้นเรื่อยๆ    

การไปขออาศัยนอนตามโรงพัก นอนตามท่ารถ ผจญยุงกัดจนไม่เป็นอันหลับอันนอน ไม่ได้ทำให้เขาหมดสนุก ป้าพาเด็กชายตระเวนขอทานไปทั่วภาคอีสาน พาไปไกลถึงจังหวัดสมุทรปราการ ตะลอนขอทานอยู่หลายปีจนอายุได้สิบเอ็ดขวบ จากที่เคยไปสามสี่วัน กลายเป็นสิบวัน ไปนานเป็นแรมเดือน แต่เด็กชายไม่เคยร้องไห้กลับบ้าน    เขาจำได้ว่าเคยหอบเงินเหรียญเป็นถุงๆ ไปแลกเป็นใบกับตามร้านค้า มันหนักจนแทบอุ้มไม่ไหว ได้เงินร่วมๆ หมื่นบาท วันหนึ่งขณะเดินขอทานอยู่ที่มหาสารคาม แคนของเขาไปสะดุดหูหมอลำกลอนคนดังในท้องถิ่น หมอแคนวัยสิบเอ็ดจึงได้ย้ายไปอยู่กับ คำพัน ฝนแสนห่า ที่อำเภอชุมพวง นานถึงห้าปี เป็นหมอแคนค่าตัวไม่กี่บาทจนได้มากถึงคืนละ 500 บาท
             
       ** ลองฟังดูยอดฝีมือทั้งสองท่านข้างล่างนี้ดูครับ ผมว่าคนที่ใจรักดนตรีต้องชอบทุกคน

         

  แทบจะกลายเป็นหมอแคนคู่บารมีเลยทีเดียว แต่ต่อมาเขาอยากรู้ฝีมือจึงออกไปขึ้นเวทีประชันแคน โดยในห้วงเวลานั้น สมบัติพอมีงานเป่าแคนบันทึกเสียงให้กับหมอลำมีชื่อที่ห้องอัดเสียงสยามที่ขอนแก่นอยู่บ้าง และด้วยเหตุนี้เองที่ครั้งหนึ่งชื่อของเขาถูกแนะนำไปถึง ไตรภพ ลิมปพัทธ์ พิธีกรชื่อดังเจ้าของรายการทไวไลต์โชว์ และถูกเชิญไปออกรายการ กลายเป็นหมอแคนตาบอดคนแรกที่ได้ออกทีวี มีคนเห็นกันทั่วเมือง กลายเป็นคนดังของอำเภอบรบือไปในชั่วข้ามคื         สมบัติมีโอกาสไปออกรายการทไวไลต์โชว์อีกครั้งในหลายปีต่อมา เคยได้เป่าแคนออกโทรทัศน์บนเวทีเดียวกับนักดนตรีเพื่อชีวิตระดับตำนาน สุรชัย จันทิมาธร โดยที่ไม่รู้ล่วงหน้ามาก่อน แต่ที่ทำให้พัฒนาการทางดนตรีของ สมบัติ สิมหล้า ก้าวขึ้นไปสู่ระดับสากล คงเป็นช่วงชีวิตที่ได้ไปเป็นส่วนหนึ่งของ "วงฟองน้ำ" ที่ก่อตั้งโดยครูบุญยงค์ เกตุคง และอาจารย์บรูซ แกสตัน ซ้ำอีกเจ็ดปีต่อมาก็ยังมีโอกาสได้พบกับอาจารย์สนอง คลังพระศรี ที่ชักชวนให้มาเป็นอาจารย์พิเศษสอนการเป่าแคนให้กับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงโอกาสร่วมเล่นกับ "วงไทยแลนด์ ฟีลฮาร์โมนิก ออร์เคสตรา" หรือ TPO วงออร์เคสตราที่มีนักดนตรีเป็นคณาจารย์ และนักศึกษาของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ที่อำนวยการวงโดยอาจารย์สุกรี เจริญสุข ผู้อำนวยการวิทยาลัยฯ นั่นเอง ขณะเดียวกันหลายครั้งยังได้ร่วมเล่นกับ "วง Dr.Sax Chamber Orchestra" ของ ดร.สุกรี อีกด้วย ทำให้ สมบัติ ในฐานะนักดนตรีเอกผู้เชี่ยวชาญด้านแคน ได้รับเชิญไปแสดงในต่างประเทศ ทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา และหลายประเทศในเอเชีย ทุกวันนี้สมบัติ สิมหล้า กลับมาที่บ้านวังไฮ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคามบ้านเกิด ครอบครัวเล็กๆ ของเขามีภรรยา และลูกสาวอีกคนที่พ่อกำลังมุ่งมั่นหัดแคนให้ เป็นครูแคนที่มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย รวมไปถึง อดิศร เพียงเกษ นายกสมาคมหมอแคนแห่งประเทศไทย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็มาหัด เต้ยโขง กับเขา ขณะเดียวกันก็เป็นอาจารย์พิเศษให้กับมหาวิทยาลัยหลายแห่งในภาคอีสาน และรับงานเป็นหมอแคนให้กับหมอลำกลอนพื้นบ้านตามแต่จะว่าหา "อย่าไปน้อยใจ ท้อแท้ใจ คนเราถ้ายังไม่หมดลมหายใจ ก็อย่าไปท้อ ผมเกิดมายังไม่ทันได้เห็นอะไร ตาก็บอดเสียแล้ว แต่ผมก็ไม่เคยท้อ ยิ่งท้อยิ่งทำให้อายุสั้น" ซึ่งไม่เพียงไม่ท้อแท้ สมบัติยังมองโลกในแง่ดี ในโลกที่มีเพียงสีดำของเขาใบนี้ มีเสียงหวานอ้อยส้อย เร่งกระชั้น ระริกไหวไปกับบทขับของลำกลอน เป็นสีสันแห่งชีวิต และได้นำเอาสิ่งดีงามมามอบให้

                           
            ส่วนล่างนี้  คัดจากบางตอน จากเวป..มหาหมอดูดอทคอม            
สมบัติ สิมหล้า หมอแคนระดับเทพเจ้า เขาคือเทพแห่งแคนจริงๆ และที่สำคัญคือ เขา...ไ ม่ มี ต า ครับ ตาเขาบอดทั้งสองข้าง ความที่เก่งกล้าสามารถในเรื่องแคน ถึงขนาดที่ อาจารย์บรูซ แกสตัน ต้องขอทำความรู้จัก แต่ก่อนไม่มีใครรู้จัก สมบัติ สิมหล้า อยู่ๆ เมื่อ ประมาณปี พ.ศ. 2518--2520 (ไม่แน่ใจ) มีเพลงลูกทุ่งเพลงหนึ่งโด่งดังทะลุฟ้าเมืองไทย และสร้างความตื่นตะลึงในหมู่คนฟังมากจากการขับร้องของ ศรชัย เมฆวิเชียร ในเพลง "เสียงซอสั่งสาว"

ที่ว่าพิเศษจนคนตื่นตะลึงก็เพราะเสียงซอสั่งสาว เป็นเพลงที่ขึ้นอินโทรโดยใช้การโซโลเดี่ยวซอล้วนๆ ยาวประมาณ 20 วินาที.. มันไพเราะมากๆ มากจนผู้คนไต่ถามว่า มันผู้ใด๋กันที่เดี่ยวซอได้คักถึกใจขนาดนี้ คำเฉลยคือ.. สมบัติ สิมหล้า เป็นบุคคลผู้นั้นครับ ตั้งแต่นั้นมา ชื่อ สมบัติ สิมหล้า ก็ดังยิ่งกว่า ศรชัย เมฆวิเชียร เสียอีกครับท่านผู้ชม หลังจากนั้น อาจารย์บรูซ ก็ไปตามหาตัวดึงมาเล่นวงฟองน้ำด้วยกันที่นี้ยิ่งไปกันใหญ่เลย มารับรู้กันกว้างขวางยิ่งขึ้นว่า สมบัติ เล่นดนตรีอิสานได้เก่งเฉียบขาดแทบทุกชิ้นรวมทั้งการเป็นเซียนแคนที่สามารถอีกด้วย นายสมบัติ สิมหล้า เกิดเมื่อวันจันทร์ ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2506 เป็นบุตรของคุณพ่อโป่ง คุณแม่บุดดี สิมหล้า ซึ่งคุณพ่อเป็นหมอแคน คุณแม่เป็นหมอลำกลอน ปัจจุบันพำนักที่ บ้านเลขที่ 22 หมู่ที่ 8 บ้านวังไฮ ต.วังใหม่ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม โทร.(043) 727184    
เมื่อแรกเกิดดวงตาของ สมบัติ สิมหล้า แฉะ หมอตำแยจะทำการหยอดตาให้แต่ใช้ยาผิดโดยเอายาที่ใช้เช็ดสะดือมาหยอดตา จากการที่ใช้ยาผิดจึงเป็นสาเหตุทำให้ดวงตาของสมบัติ สิมหล้า เริ่มมืดและมองไม่เห็นในที่สุด             ประวัติการศึกษา ศึกษาอักษรเบลล์ จากโรงเรียนคนพิการปากเกร็ดนนทบุรี เป็นเวลา 3 เดือน ได้เริ่มฝึกหัดเป่าแคนตั้งแต่อายุได้ 6 ขวบ พ่อชื้อแคนมาให้เป่า หวังจะให้มีลูกมีอาชีพเป็นหมอแคนในอนาคต ทั้งที่ตอนแรกสมบัติยังไม่รักที่จะเป่าแคนเลย เมื่อได้รับการฝึกฝนทักษะจากผู้เป็นบิดาที่มีอาชีพเป็นหมอแคน ก็สามารถเป่าแคนให้กับหมอลำกลอนเมื่ออายุได้ 14 ปี โดยเป่าแคนให้หมอลำบัวผัน ดาวคะนอง, หมอลำคำพัน ฝนแสนห่า, หมอลำวิรัติ ม้าย่อง โดยได้รับค่าตอบแทนในตอนนั้นเป็นจำนวนเงิน 500 บาท และได้ยึดอาชีพหมอแคนมาจนถึงปัจจุบัน  
         
          
         
       ผลงาน     
ร่วมบรรเลงในวงแคนอีสาน ของวิทยาลัยครูมหาสารคาม เพื่อทำการบันทึกเสียง เป็นวิทยากรให้กับสถานศึกษาต่างๆ เช่น คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร.ร.บรบือวิทยาคาร ร่วมแสดงกับวงดนตรี เช่น วงฟองน้ำ, หงา คาราวาน, สนธิ สมมาตร , สายันต์ สัญญา ฯลฯ ได้รับเชิญจากรายการ ทไวไลท์โชว์ ในช่วง ทอล์คโชว์    
         
ร่วมบรรเลงแคนประยุกต์กับดนตรีรูปแบบต่างๆ ในรายการ คุณพระช่วย บันทึกเทป เดี่ยวแคน บริษัทชัวร์ ออดิโอ สอนเป่าแคนให้แก่ ประชาชน และผู้สนใจทั่วไป ในเวลาว่าง สถานภาพครอบครัว สมรสแล้วกับ นางนิว สิมหล้า (นิว ทึนหาญ) และมีบุตรสาว 1 คน ชื่อ เด็กหญิง สุพัตรา สิมหล้า ปัจจุบันอายุ 4 ขวบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น